วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องย่อ ฉีจี้กวง วีรบุรุษมือปราบ (Anti-Japanese Hero Qi Jiguang)




กำกับ: หลี่ฮุ่ยหมิน (ชาวฮ่องกง)
เขียนบท: เฉินฮั่น, วังไห่หลิน
แนวละคร: ย้อนยุค, อิงประวัติศาสตร์
จำนวนตอน: 30
ออกอากาศ: จีน - 24 ธันวาคม 2558 ทางซีซีทีวี
            ไทย - ทุกวันเสาร์ เวลา 13.00-14.00 น. ทางไทยรัฐทีวี (หมายเลข 32) ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2560 - 2 กันยายน 2560

เรื่องย่อ



ละคร "ฉีจี้กวง วีรบุรุษมือปราบ" นำเสนอเรื่องราวของ "ชีจี้กวง" (ชื่อทางการคือ "หยวนจิ้ง") วีรบุรุษและแม่ทัพของราชวงศ์หมิงซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำการปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจากการโจมตีของโจรสลัด "โวโค่ว"* ในสมัยศตวรรษที่ 16 ทั้งยังเป็นผู้เขียนคู่มือและยุทธวิธีต่างๆ ทางด้านการทหารที่เรียกว่า "จี้เซี่ยวซินซู" และบันทึกการฝึกอบรมทหาร "เลี่ยนปิงสือจี้" อีกด้วย

* โจรสลัด "โวโค่ว"  หรือ "วาโก" ในภาษาญี่ปุ่น และ "แวคู" ในภาษาเกาหลี  (เริ่มใช้คำนี้ครั้งแรกเมื่อ 414 ปีก่อนคริสตกาล ตอนที่ญี่ปุ่นโจมตีแผ่นศิลาจารึกใกล้สุสานพระเจ้าควังแกโทมหาราชแห่งโกคูรยอ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองจี๋อัน มณฑลจี๋หลินของจีนในปัจจุบัน - บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของโกคูรยอในยุคนั้น) แม้คำดังกล่าวจะหมายถึง "โจรสลัดญี่ปุ่น" เพราะมีเพียงชาวญี่ปุ่นในยุคเริ่มแรก แต่บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงระบุว่า สมัยศตวรรษที่ 16 โจรสลัดดังกล่าวมีชาวญี่ปุ่นเพียง 30% ส่วนอีก 70% เป็นชาวจีนหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโจรสลัดที่ลักลอบทำการค้ากับต่างชาติและมีฐานที่มั่นอยู่บนเกาะคิวชูของญี่ปุ่น สาเหตุที่การปราบปรามพ่อค้าโจรสลัดเหล่านี้ทำได้ยากเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้างของเหล่าขุนนางราชวงศ์หมิง ขุนนางฉ้อฉลเหล่านี้พากันสมคบคิด ลักลอบค้าขาย และรับผลประโยชน์จากเหล่าโจรสลัด โดยสองแม่ทัพที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในการปราบปรามโจรสลัดโวโค่ว ได้แก่ แม่ทัพ "อวี๋ต้าโหยว"  และแม่ทัพ "ชีจี้กวง" 


จุดเริ่มต้นของสถานการณ์โจรสลัดโวโค่วในมณฑลเจ้อเจียงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ราชสำนักหมิงห้ามไม่ให้มีการค้าขายทางทะเลกับต่างชาติทั้งที่สินค้าจีนเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก และยังห้ามเดินทางข้ามทะเลทั้งขาออก-ขาเข้า เหล่าพ่อค้าและนักเดินเรือชาวจีนเลยต้องปักหลักอยู่บนเกาะของญี่ปุ่น (พ่อค้าโจรสลัดเหล่านี้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นและมีผลประโยชน์ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของญี่ปุ่น) เพื่อปกป้องสินค้าจากพ่อค้าโจรสลัดกลุ่มอื่นและทัพเรือราชวงศ์หมิง เรือของพวกเขาจึงติดตั้งปืนใหญ่ของโปรตุเกส ทั้งยังจ้างนักรบชาวญี่ปุ่นมาเป็นผู้คุ้มกันอีกด้วย 




ชีจี้กวงเกิดในครอบครัวที่เป็นทหารมาหลายชั่วอายุคน บรรพบุรุษของเขาเป็นผู้นำทหารในสังกัดของ "จูหยวนจาง" และได้พลีชีพในสนามรบ เมื่อจูหยวนจางสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิหงอู่ (หมิงไท่จู่ - ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง) จึงปูนบำเหน็จทายาทสกุลชีด้วยการมอบตำแหน่ง "ผู้บัญชาการทหาร" ประจำกองรักษาการณ์เขตเติ้งโจว (ปัจจุบันคือ เมืองเผิงไหล ในมณฑลซานตง)  โดยให้สืบทอดตำแหน่งจากรุ่นสู่รุ่น และชีจี้กวงก็สืบทอดตำแหน่งดังกล่าวต่อจาก "ชีจิ่งทง" ผู้เป็นบิดาขณะอายุเพียง 17 ปี 

หลังเข้ารับตำแหน่งชีจี้กวงไม่เพียงก่อตั้งกองกำลังป้องกันทางน้ำ แต่ยังช่วยนำทัพไปปกป้องเมืองจี้โจว (ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงปักกิ่งในปัจจุบัน) จากการรุกรานของมองโกลในช่วงฤดูใบไม้ผลิตั้งแต่ปี ค.ศ. 1548 -1552 ขณะอายุ 22 ปีชีจี้กวงได้เดินทางมายังกรุงปักกิ่งเพื่อสอบขุนนางฝ่ายบู๊ ในช่วงเวลาดังกล่าวทัพมองโกลนำโดย "อันต๋าข่าน" ได้บุกทลายแนวป้องกันด้านทิศเหนือและตรงเข้าล้อมกรุงปักกิ่ง เหล่าผู้เข้าสอบขุนนางฝ่ายบู๊จึงถูกเกณฑ์มาช่วยกันปกป้องเมืองหลวง ชีจี้กวงก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาได้ใช้โอกาสนี้แสดงความกล้าหาญและวางกลอุบายด้านการรบจนเอาชนะทัพมองโกลได้ในที่สุด

ในปี ค.ศ. 1553 ชีจี้กวงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยแม่ทัพภาคของกองกำลังต่อต้านโจรสลัดโวโค่วในมณฑลซานตง (โจรสลัดดังกล่าวประกอบด้วย ชาวญี่ปุ่น โปรตุเกส  และชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน) ตอนที่ชีจี้กวงได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้บัญชาการกองกำลังปกป้องชายฝั่งของมณฑลซานตงเขามีทหารในมือไม่ถึงหมื่นนาย มิหนำซ้ำ พลทหารที่ยังหนุ่มยังแน่นและแข็งแรงจำนวนไม่น้อยได้พากันหนีทหาร จึงเหลือเพียงทหารที่อ่อนแอและอายุมาก ซ้ำยังขาดการฝึกอบรมและไร้ระเบียบวินัย ทำให้การป้องกันพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมีความหละหลวมเพราะถูกละเลยมานานหลายปี




ฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1555 ชีจี้กวงได้ถูกส่งไปประจำการในมณฑลเจ้อเจียงซึ่งกำลังประสบวิกฤติการณ์ด้านโจรสลัด เขาพร้อมแม่ทัพ "อวี๋ต้าโหยว" และ "ถานหลุน" (ซึ่งเป็นขุนนางและแม่ทัพที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานในกองทัพและวางกลยุทธ์ด้านการทหาร) ได้ร่วมกันนำทัพหมิงไปปราบปรามโจรสลัดได้อย่างราบคาบที่อ่าวเฉิน (เฉินกัง) ในปี ค.ศ. 1558 หลังจากนั้นชีจี้กวงยังคงนำทัพเข้ากวาดล้างโจรสลัดที่เถาจู่ ไห่เหมิน และไถโจว แต่เขากลับไม่ได้รับการยกย่อง ซ้ำยังถูกใส่ร้ายว่ารวมหัวกับพวกโจรสลัดญี่ปุ่น

หลังควบคุมสถานการณ์โจรสลัดที่เจ้อเจียงได้แล้ว ชีจี้กวงก็หันมาให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทหารใหม่ โดยได้เกณฑ์คนงานเหมืองแร่และชาวนามาเป็นกำลังหลัก เพราะเห็นว่าคนเหล่านี้มีความซื่อสัตย์และขยันขันแข็ง นอกจากนี้ เขายังสั่งต่อเรือขนาดต่างๆ จำนวน 44 ลำเพื่อใช้ในการต่อกรกับเหล่าโจรสลัดทางทะเลอีกด้วย  ในปี ค.ศ. 1559 ทหารใหม่ของชีจี้กวงได้ปะทะกับโจรสลัดญี่ปุ่นที่เมืองไถโจวในมณฑลเจ้อเจียง หลังต่อสู้กันนานหนึ่งเดือนกองกำลังโจรสลัดเป็นฝ่ายสูญเสียอย่างหนักเพราะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บราว 5 พันนาย  ทำให้ชื่อเสียงของกองทัพชีจี้กวงเป็นที่เลื่องลือทั้งในหมู่ชาวเจ้อเจียงและศัตรู หลังจากนั้นเหล่าโจรสลัดก็ถอยไปปักหลักที่มณฑลฝูเจี้ยน โดยโจรสลัดกว่าหมื่นคนได้ตั้งฐานที่มั่นตามแนวชายฝั่งนับตั้งแต่ตอนเหนือของมณฑลฝูเจี้ยนไปจนถึงตอนใต้ของมณฑลเจ้อเจียง

ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1562 ชีจี้กวงนำทหารฝีมือดี 6 พันนายลงใต้ไปยังมณฑลฝูเจี้ยน กองทัพของเขาสามารถกวาดล้างสามที่มั่นหลักของโจรสลัดโวโค่วได้ภายในสองเดือน แต่นั่นก็ทำให้กองทัพของเขาสูญเสียอย่างหนักทั้งจากการสู้รบและโรคภัย เหล่าโจรสลัดฉวยโอกาสช่วงที่ชีจี้กวงกลับไปจัดตั้งทัพใหม่ที่มณฑลเจ้อเจียงบุกมณฑลฝูเจี้ยนอีกครั้ง ทั้งยังยึดเมืองซิงฮั่วได้อีกด้วย ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1563 ชีจี้กวงนำกำลังทหารหมื่นนายมาปราบเหล่าโจรสลัดและยึดคืนเมืองซิงฮั่วในมณฑลฝูเจี้ยน หลังเอาชนะเหล่าโจรสลัดได้หลายครั้งหลายครา ปัญหาโจรสลัดที่มณฑลฝูเจี้ยนก็เริ่มคลี่คลายลง

เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1565 การสู้รบกับโจรสลัดครั้งใหญ่ได้ปะทุขึ้นบนเกาะหนานอ้าว ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนระหว่างมณฑลฟูเจี้ยนและมณฑลกว่างตง ศึกครั้งนี้ชีจี้กวงได้ร่วมรบกับแม่ทัพอวี๋ต้าโหยวอีกครั้ง ทั้งคู่ช่วยกันกวาดล้างโจรสลัดที่ยังเหลือรอด (เป็นการรวมตัวกันระหว่างโจรสลัดญี่ปุ่นและจีน) ได้สำเร็จ




ปลายปี ค.ศ. 1567 ชีจี้กวงได้ถูกเรียกตัวมาที่กรุงปักกิ่งเพื่อรับผิดชอบด้านการฝึกทหารองครักษ์ ในเวลาต่อมาเขาได้รับมอบหมายให้นำทัพไปปราบมองโกลที่จี้โจว เขาได้สั่งให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองจีนตั้งแต่ด่านซันไห่ไปจนถึงด่านจูหยง และสั่งให้สร้างหอสังเกตการณ์ตามจุดต่างๆ บนกำแพงเมืองจีน หลังทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างหนักเป็นเวลาสองปี หอสังเกตการณ์กว่าหนึ่งพันหอได้ถูกก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ทำให้การปกป้องดินแดนด้านทิศเหนือมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

ฤดูหนาวปี ค.ศ. 1572 ชีจี้กวงได้จัดฝึกอบรมทางการทหารและซ้อมรบเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยมีเหล่าทหารเข้าร่วมกว่า 100,000 นาย และเขาก็นำประสบการณ์ที่ได้ในครั้งนั้นมาเขียนหนังสือบันทึกการฝึกอบรมทหาร "เลี่ยนปิงสือจี้" ซึ่งนับเป็นข้อมูลอันล้ำค่าสำหรับผู้นำทหารในรุ่นต่อๆ มา

ในช่วงบั้นปลายของชีวิตชีจี้กวงมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังเป็นเวลาหลายปี เขาเสียชีวิตที่บ้านเกิดในตำบลลู่เฉียว มณฑลซานตง ปี ค.ศ. 1588 ก่อนวันตรุษจีนเพียงไม่กี่วัน

* ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นชีวประวัติของแม่ทัพ "ชีจี้กวง" *

* เนื้อหาโดย luvasianseries 






นักแสดง


จูเสี่ยวอวี๋
รับบท ฉีจี้กวง (ชีจี้กวง)
(นักแสดง ชาวจีน)



เหยียนตานเฉิน
รับบท หวังอวี้จู๋
(นักแสดง ชาวจีน)



อวี๋หรงกวง
รับบท อวี๋ต้าโหยว
(นักแสดง / ผู้กำกับ / ผู้ผลิต ชาวจีน)

เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์: "อวี๋ต้าโหยว" เป็นแม่ทัพอีกคนที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านการกวาดล้างโจรสลัดโวโค่ว เขาปกป้องบ้านเมืองจากศัตรูและโจรสลัดโวโค่วมาตลอดชีวิต เป็นคนซื่อสัตย์และเที่ยงตรง ทั้งยังเคยเป็นศิษย์วัดเส้าหลินอีกด้วย



เหอปิง
รับบท จักรพรรดิเจียจิ้ง
(นักแสดง ชาวจีน)

เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์: "จักรพรรดิเจียจิ้ง" เป็น "จักรพรรดิองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์หมิง ทรงขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา เนื่องจากพระองค์ไม่ใช่ทายาทของฮ่องเต้องค์ก่อนหน้า ราชสำนักจึงเสนอให้ทำพิธีแต่งตั้งพระองค์เป็นบุตรบุญธรรมของจักรพรรดิหงจื้อผู้ล่วงลับ (ซึ่งเป็นพระราชบิดาของจักรพรรดิเจิ้งเต๋อและเป็นพี่น้องกับพระบิดาของพระองค์) ตามกฏที่มีมาแต่โบราณ แต่จักรพรรดิเจียจิ้งกลับยกฐานะพระบิดาผู้ล่วงลับขึ้นเป็นฮ่องเต้แทน (เป็นฮ่องเต้แค่ในนาม) ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในราชสำนัก หลังพระองค์เป็นฝ่ายชนะจึงทำการเนรเทศฝ่ายตรงข้ามหลายร้อยคน ขณะที่บางส่วนโดนโบยหรือไม่ก็ถูกประหาร หลังจากนั้นพระองค์ก็หันหลังให้กับราชสำนักและฝากงานราชกิจไว้กับเสนาบดีเหยียนซง (จึงเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชั่น) แม้พระองค์จะไม่ออกว่าราชการในท้องพระโรง (นานเกือบ 25 ปี) และไม่ประทับในวังหลวง แต่ยังคงอ่านฎีกาและหารือเรื่องบ้านเมืองกับเหยียนซง หากมีเรื่องรับสั่งมักตรัสผ่านขันที ทำให้มีเพียงเหยียนซง ขันที พระสนมและนางกำนัล ตลอดจนนักพรตเต๋าไม่กี่คนที่เคยเห็นหน้าพระองค์ (พระองค์ทรงคลั่งลัทธิเต๋า) 

นอกจากความฉลาดหลักแหลมแล้ว พระองค์ยังได้ชื่อว่าเป็นคนโหดเหี้ยม โดยละครตอนแรกได้กล่าวถึงเหตุการณ์ "เหรินอิ๋นกงเปี้ยน" หรือ "กบฏวังหลวงปีเหรินอิ๋น" ซึ่งเป็นการก่อกบฏโดยเหล่านางกำนัลและพระสนมในปีเหรินอิ๋น เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1542 (หรือปีที่ 21 ในรัชสมัย "จักรพรรดิเจียจิ้ง") สตรีในวังนับสิบคนได้ร่วมมือกันปลงพระชนม์จักรพรรดิเจียจิ้งขณะที่พระองค์ทรงพระบรรทมในตำหนักของพระสนมต้วน (พระสนมที่ฮ่องเต้โปรดปรานมากที่สุด) หลังไม่อาจทนพฤติกรรมอันโหดร้ายป่าเถื่อนของพระองค์ที่ทรงนำเลือดของเด็กสาวบริสุทธิ์ (อายุ 13-14 ปี และถูกนำตัวเข้าวังเพื่อการนี้โดยเฉพาะ) มาเป็นส่วนผสมของยาอายุวัฒนะโดยเด็กหญิงเหล่านี้จะได้ทานเพียงหม่อนและน้ำฝนเท่านั้น หลังกระทำการไม่สำเร็จผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดล้วนถูก "ฟางฮองเฮา" สั่งประหารด้วยการค่อยๆ เฉือนเนื้อ (แม้แต่พระสนมต้วนที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่อยู่ในเหตุการณ์ และนางกำนัลกลับใจที่รีบวิ่งมาทูลฟางฮองเฮาก็ถูกประหารด้วยวิธีดังกล่าวเช่นกัน)



หนีต้าหง
รับบท เหยียนซง
(นักแสดง ชาวจีน)

เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์: "เหยียนซง" (ชื่อทางการที่ตั้งขึ้นในภายหลังคือ "เหวยจง") เป็นขุนนางระดับสูงของราชวงศ์หมิง เขาเป็นที่รู้จักในฐานะขุนนางฉ้อฉลและผู้กุมอำนาจราชสำนัก โดยดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี 2 สมัยในรัชสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง (สมัยแรก 1 ปี สมัยที่สอง 19 ปี) ช่วงที่เหยียนซงดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีสมัยที่สอง เขาและ "เหยียนซื่อฟาน" ผู้เป็นบุตรชาย (ซึ่งคบค้ากับโจรสลัดโวโค่ว) ต่างกุมอำนาจในราชสำนักภายใต้ความยินยอมพร้อมใจของ "จักรพรรดิเจียจิ้ง" 



หลี่ลี่ฉวิน
รับบท หูจงเสี้ยน
(นักแสดง ชาวไต้หวัน)

เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์: "หูจงเสี้ยน" (ชื่อทางการที่ตั้งขึ้นในภายหลังคือ "หรู่เจิน") เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดประจำกองกำลังรักษาการณ์ชายฝั่งมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง  และฝูเจี้ยน เขาเป็นผู้รับผิดชอบแผนป้องกันและปราบปรามโจรสลัดโวโค่วของทางการ ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เขาสามารถปราบปรามหัวหน้ากลุ่มโจรสลัดโวโค่วชาวจีนนามว่า "สวีไห่" ในปี ค.ศ. 1556 ก่อนจับตัว "วังจื๋อ" ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มโจรสลัดชาวจีนอีกกลุ่มในปีต่อมา ("วังจื๋อ" เป็นหนึ่งในพ่อค้าและหัวหน้ากลุ่มโจรสลัดโวโค่วซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ) แม้จะมีผลงานในการปกป้องบ้านเมือง แต่ชื่อเสียงของเขากลับต้องมัวหมองเพราะมีความใกล้ชิดกับอัครมหาเสนาบดี "เหยียนซง" และ "จ้าวเหวินหัว" ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้ตำแหน่งเพราะใช้เส้นสาย ("จ้าวเหวินหัว" เป็นเสนาบดีและคนสนิทของเหยียนซง ทั้งยังเป็นผู้ส่งเสริมและแต่งตั้งหูจงเสี้ยนเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด



เส้าเฟิง
รับบท สวีเว่ย (สวีเหวินฉาง)
(นักแสดง ชาวจีน)

เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์:  "สวีเว่ย" เป็นจิตรกร นักเขียน และนักเขียนบทละครที่โด่งดังในสมัยราชวงศ์หมิง เขาเป็นผู้ริเริ่มการวาดภาพแบบสมัยใหม่ (นามปากกาของเขาคือ "ชิงเถิง") ผลงานของเขามีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้จิตรกรรุ่นหลังๆ ถึงกระนั้นเขากลับไม่ประสบสำเร็จในชีวิต ซ้ำยังป่วยทางจิตและพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง (ทั้งยังฆ่าภรรยาตนเองด้วย) ชื่อทางการที่ตั้งขึ้นในภายหลังของเขาคือ "เหวินชิง" แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็น "เหวินฉาง" เขาผ่านการสอบขุนนางในระดับท้องถิ่นขณะอายุเพียง 20 ปี แต่กลับไม่เคยสอบผ่านในระดับภูมิภาคทั้งที่พยายามถึง 8 ครั้ง ภายหลังเขาถูก "หูจงเสี้ยน" ว่าจ้างให้มาช่วยงานด้านการปราบปรามโจรสลัดโวโค่ว



เจี๋ยไหน่เลี่ยง
รับบท ถังเซี่ยนจือ
(นักแสดง ชาวจีน)



อวี๋เจิ้น
รับบท  ชีจิ่งทง (พ่อชีจี้กวง)
(นักแสดง ชาวจีน)


 

จางเทียนหลิน
รับบท เหยียนซื่อฟาน (บุตรชายเหยียนซง)
(นักแสดง / นายแบบ ชาวไต้หวัน)


 

หูอี้เหริน
รับบท ต้าเน่ยฉิงอิง  (ชาวญี่ปุ่น - แต่ชื่อตัวละครถูกเขียนเป็นภาษาจีน)  
(นักแสดง ชาวจีน)


 

หยวนจื่อเฟย
รับบท หวังชุ่ยเชี่ยว
(นักแสดง / นักร้อง ชาวจีน)


 

เฟยเอ๋อร์
รับบท หลินเสวี่ยไน่จื่อ  (ชาวญี่ปุ่น - แต่ชื่อตัวละครถูกเขียนเป็นภาษาจีน) 
(นักแสดง ชาวจีน)


 

หลี่ว์อี้
รับบท เสิ่นไต้อวิ๋น (ภรรยาถังเซี่ยนจือ)
(นักแสดง ชาวจีน)




*** หากท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิภาพ / เนื้อหา / คลิป ที่ปรากฏในหน้านี้ และไม่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่ซ้ำ กรุณาแจ้งมายังอีเมล์ luvasianseries@hotmail.com เพื่อที่เราจะได้ทำการลบข้อมูลของท่านออกจากระบบ และต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพื่อป้องกันสแปม ความเห็นของคุณจะปรากฏทันทีที่ได้รับการตรวจสอบจากเรา