วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

เรื่องย่อ ซูสีไทเฮา หงส์เหนือบัลลังก์ (The Firmament of the Pleiades)




กำกับ: วังจวิ้น
เขียนบท: หยางไห่เวย, หวงเคอ
แนวละคร: ย้อนยุค, ดราม่า
จำนวนตอน: 25 (ญี่ปุ่น) / 28 (จีน)
ออกอากาศ: ญี่ปุ่น - 2 มกราคม 2553 - 10 กรกฎาคม 2553 (เวอร์ชั่นซับญี่ปุ่น) และ 26 กันยายน 2553 - 27 มีนาคม 2554 (เวอร์ชั่นพากย์ญี่ปุ่น) ทางช่องเอ็นเอชเค
                   จีน - 14 มีนาคม 2553 ทางปักกิ่งทีวี (BTV)
                   ไทย - ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 18.30-19.30 น. ทางไทยรัฐทีวี เริ่มวันที่ 2 มกราคม 2559 - 9 เมษายน 2559

ละคร "ซูสีไทเฮา หงส์เหนือบัลลังก์ (The Firmament of the Pleiades)" ดัดแปลงมาจากนวนิยายเบสท์เซลเลอร์ เรื่อง "Sokyu No Subaru (蒼穹の昴)" ของนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า "อาซาดะ จีโร่" (ผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง "Love Letter" ซึ่งเคยถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง "Failan" ที่เข้าฉายเมื่อปี 2001) ผลิตโดย บริษัท เอ็นเอชเค ประเทศญี่ปุ่น และ ปักกิ่ง หัวลู่ไป่น่า ฟิล์มแอนด์ทีวี ประเทศจีน ถ่ายทำที่โรงถ่ายเหิงเตี้ยน (Hengdian World Studios) ในมณฑลเจ้อเจียงของจีน

เรื่องย่อ




"ซูสีไทเฮา หงส์เหนือบัลลังก์ (The Firmament of the Pleiades)" เป็นละครที่นำเสนอเรื่องราวสมัยราชวงศ์ชิงผ่านมุมมองของนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น จึงมีเนื้อหาและรายละเอียดบางส่วนแตกต่างจากเหตุการณ์ทางประวัติศาตร์ของจีน เหตุการณ์ในละครเกิดขึ้นช่วงปลายราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยของ "จักรพรรดิกวังซวี่" ซึ่งเป็นพระภาคิไนย (ลูกชายของน้องสาว) และพระโอรสบุญธรรมของ "พระนางซูสีไทเฮา" เนื้อหากล่าวถึงเรื่องราวของเด็กหนุ่มสองคน... คนหนึ่งเป็นหนุ่มสู้ชีวิตที่แสนยากจนนามว่า "หลี่ชุนอวิ๋น" หรือ "ชุนเอ๋อร์" ซึ่งหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการรับจ้างเก็บอึ หลังพี่ชายเสียชีวิตเพราะความอดอยาก ชุนเอ๋อร์ก็ตอนตัวเองหวังเข้าวังไปทำงานเป็นขันทีเพื่อจะได้นำเงินมารักษาแม่บุญธรรมที่กำลังล้มป่วย หลังเข้าวังได้ไม่นานเขาก็ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจนกลายเป็นขันทีคนโปรดของพระนางซูสีไทเฮา

ส่วน "เหลียงเหวินซิ่ว" เป็นลูกชายเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง หลังรู้ว่ามารดาผู้ให้กำเนิดเป็นสาวใช้ที่ถูกขับออกจากบ้าน เหวินซิ่วก็ออกจากบ้านเพื่อมาตามหาแม่ และพบว่าแม่บุญธรรมของชุนเอ๋อร์คือ "เหลียนจือ" แม่แท้ๆ ของตน พอรู้ว่าชุนเอ๋อร์ถึงกับตอนตัวเองหวังนำเงินมารักษาแม่ เขาก็รู้สึกประทับใจในความเสียสละและกตัญญูของชุนเอ๋อร์จึงนับชุนเอ๋อร์เป็นน้องชาย เขาและชุนเอ๋อร์เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งพร้อมกับ "หลี่หลิงหลิง" (หลิงเอ๋อร์ - น้องสาวของชุนเอ๋อร์)  โดยหวังว่าจะประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่ดีขึ้น ลังได้เป็นจอหงวนเขาก็เข้ารับตำแหน่งสำคัญในราชสำนักและได้ทำงานรับใช้ใกล้ชิดฮ่องเต้ โดยตั้งใจว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการปฏิรูปบ้านเมืองให้หลุดพ้นจากวิกฤติการณ์และความทุกข์ยากต่างๆ ตามที่แม่สั่งเสียเอาไว้ก่อนตาย

ด้วยความที่ชะตาชีวิตของทั้งคู่ต้องมาเกี่ยวพันกับพระนางซูสีไทเฮา* และจักรพรรดิกวังซวี่* (ซึ่งอยู่ต่างขั้วทางการเมือง) สองหนุ่มจึงตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งและแผนสมคบคิดทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

*เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์

"จักรพรรดิกวังซวี่" พระนามเดิม อ้ายซินเจว๋หลัวไจ้เถียน เป็นพระโอรสองค์ที่สองในองค์ชายอี้เซวียน (หรือ "ฉุนชินอ๋อง" - พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง และพระอัยกาของจักรพรรดิผู่อี๋ หรือปูยี)  พระราชชนนีคือพระนางเยเหอนาลา หวั่นเจิน (พระขนิษฐาในพระนางซูสีไทเฮา)  ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิถงจื้อขณะมีพระชนมายุเพียง 4 พรรษา แต่การขึ้นครองราชย์ของพระองค์นับเป็นการผิดกฎมณเฑียรบาล เพราะตามกฏแล้วต้องเลือกจักรพรรดิองค์ใหม่ที่เป็นสมาชิกราชวงศ์รุ่นถัดไป ถึงกระนั้นการที่พระนางซูสีไทเฮายกพระภาคิไนย (ลูกน้องสาว) ของตนขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ก็ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในราชวงศ์จึงก็ไม่มีใครกล้าคัดค้าน และเพื่อเป็นการรักษาธรรมเนียมในการสืบราชสมบัติจากพระบิดาสู่โอรส จึงยกจักรพรรดิกวังซวีเป็นโอรสบุญธรรมของพระจักรพรรดิเสียนเฟิง (และพระนางซุสีไทเฮา)

หลังมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์มีพระราชดำริที่จะปฏิรูปบ้านเมืองให้มีความทันสมัยทุกด้าน แทนที่จะบริหารไปในทางอนุรักษนิยมแบบพระนางซูสีไทเฮา จึงทรงริเริ่มแผน "ปฏิรูป 100 วัน" ตามคำแนะนำของนักปฏิรูป โดยเน้นการผลิตบัณฑิตสมัยใหม่ เปิดกว้างการวิพากษ์ วิเคราะห์ และพัฒนากิจการใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งของชาติและความอิ่มท้องของชาวบ้าน  (ตลอดจนยึดอำนาจคืนจากพระนางซูสีไทเฮาซึ่งยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่) แต่สุดท้ายก็ถูกพระนางซูสีไทเฮาและขุนนางฝ่ายอนุรักษนิยมทำรัฐประหารในที่สุด 

ภาพจาก: วิกิพีเดีย


"ซูสีไทเฮา" เป็นพระสนมในพระเจ้าเสียนเฟิง ครั้นพระเจ้าเสียนเฟิงสิ้นพระชนม์ พระโอรสของพระองค์ก็ขึ้นเป็นพระเจ้าถงจื้อ พระนางซูสีไทเฮาซึ่งเป็นพระราชชนนีจึงได้ขึ้นเป็นพระพันปี หลังจากนั้นก็ทำการยึดอำนาจจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่พระเจ้าเสียนเฟิงตั้งเอาไว้ แล้วขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการพร้อมกับพระพันปีฉืออัน (อัครมเหสีของพระเจ้าเสียนเฟิง) หลังพระพันปีฉืออันสิ้นพระชนม์ พระนางซูสีไทเฮาจึงสำเร็จราชการแต่เพียงผู้เดียว เมื่อพระเจ้าถงจื้อสิ้นพระชนม์ พระนางซูสีไทเฮาก็ยกหลานของตนขึ้นเป็นจักรพรรดิกวังซวี่ถึงแม้ว่าจะขัดกับระเบียบการสืบสันตติวงศ์ก็ตาม  หลังจากนั้นก็ทรงว่าราชการหลังม่านต่อไป

หลังวางมือจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแล้วพบว่า แนวทางในการบริหารบ้านเมืองของจักรพรรดิกวังซวี่ต่างจากหลักการของพระองค์แบบสุดขั้ว  พระนางซูสีไทเฮาจึงยึดอำนาจการปกครองคืนจากจักรพรรดิกวังซวี่ และจับจักรพรรดิกวังซวี่ไปคุมขังไว้ที่เกาะกลางทะเลสาบโดยให้อยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ หลังจากนั้นพระนางซูสีไทเฮาก็บริหารราชการด้วยพระองค์เองแต่ยังคงใช้ศักราชกวังซวี่ต่อไปตราบจนจักรพรรดิกวังซวี่สวรรคต (ซูสีไทเฮาปกครองประเทศจีนโดยพฤตินัยเป็นเวลา 47 ปี)

ภาพจาก: วิกิพีเดีย




ละครเริ่มต้นขึ้นด้วยการเกริ่นนำเกี่ยวกับความเป็นมาของ "ราชวงศ์ชิง" หรือ "ราชวงศ์แมนจู" ซึ่งปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หมิง และถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน โดยกล่าวว่าราชวงศ์ชิงไม่ได้ก่อตั้งโดยชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นชาวแมนจูซึ่งเป็นเพียงกลุ่มชนเร่ร่อนที่อาศัยอยู่ในเขตแมนจูเรียทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน  ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงเกิดจลาจลและการเมืองไร้เสถียรภาพ ชาวแมนจูถือโอกาสรวบรวมกำลังพล (โดยผู้นำตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัว) และเข้าบุกยึดกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นราชธานีของราชวงศ์หมิง ก่อนสถาปนาอาณาจักรต้าชิงขึ้นอย่างเป็นทางการ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1644 - 1912 หรือ พ.ศ. 2187–2455)

เกือบ 200 ปีต่อมา ราชวงศ์ชิงเริ่มระส่ำระสายหลังพ่ายแพ้กองทัพเรืออังกฤษในสงครามฝิ่น เมื่อปี ค.ศ. 1842 (พ.ศ. 2385) ส่งผลให้รัฐบาลชิงต้องเสียดินแดนและต้องชำระค่าฝิ่นกับค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก จึงต้องขูดรีดภาษีจากประชาชน ด้วยความที่การคลังขาดแคลน ประชาชนอดอยาก บ้านเมืองเริ่มวุ่นวายไร้ความสงบสุข ประชาชนจึงเริ่มรวมตัวต่อต้านอำนาจรัฐจนกลายเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว แต่ก็ถูกทางการ (ซึ่งร่วมมือกับกองทัพอังกฤษ) กวาดล้างในที่สุด

ในปีเมจิที่ 20 (ของญี่ปุ่น) หรือปี ค.ศ. 1887 (ตรงกับปี พ.ศ. 2430 - ซึ่งเป็นปีที่ไทยกับญี่ปุ่นได้ร่วมลงนามใน “หนังสือปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีและการค้าขายระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น") "จักรพรรดิกวังซวี่" (บ้างก็เรียก "กวางสู") ทรงมีพระชนมายุครบ 16 พรรษา พระนางซูสีไทเฮาจึงรับปากว่าจะยอมให้พระองค์บริหารราชการแผ่นดินได้โดยลำพัง แต่ยังคงกำกับดูแลและมีอิทธิพลเหนือบัลลังก์เช่นเดิม  หลังจากนั้น 2 ปี พระนางซูสีไทเฮาได้เกษียณพระองค์จากการเป็นผู้สำเร็จราชการและเสด็จไปประทับที่พระราชวังฤดูร้อน จักรพรรดิกวังซวี่จึงมีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองเต็มที่ ตลอด 10 ปีหลังจากนั้นได้เกิดความพยายามในการปฏิรูปบ้านเมืองให้หลุดพ้นจากความล้าหลังและความอดอยากยากจน จนนำไปสู่ความขัดแย้งและการยึดอำนาจ ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย


 

"ชุนเอ๋อร์" เด็กหนุ่มยากจนที่อาศัยอยู่ในจิงไห่ (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในเทศบาลนครเทียนจิน) ตัดสินใจใช้มีดสั้นตอนตัวเองเพื่อจะได้เข้าวังเป็นขันทีหวังนำเงินมารักษาแม่บุญธรรมที่กำลังป่วยหนัก เมื่อแม่หมอผมขาวประจำตำบลมาพบเข้าจึงช่วยรักษาพยาบาลและทำนายดวงชะตาให้ โดยบอกว่าชะตาชีวิตของชุนเอ๋อร์อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มดาวเหม่าซิ่ว* ในภายภาคหน้าขุมทรัพย์ทั้งหมดของราชวงศ์ชิงจะตกอยู่ในกำมือของเขา

* กลุ่มดาวเหม่าซิ่ว คือ กลุ่มดาวลูกไก่  โหราศาสตร์ไทยเรียกว่า "กลุ่มดาวฤกษ์กฤติกา" หรือ "กลุ่มดาวฤกษ์รูปไก่" มีคุณสมบัติวิเศษยิ่งกว่ากลุ่มดาวฤกษ์อื่นเพราะเป็นเจ้าของ “ภพกะดุมภะของโลก” คือเป็นเจ้าของขุมทรัพยากรทั้งปวงบนพื้นพิภพ - ที่มา คมชัดลึก



 

หลายปีต่อมา พระนางซูสีไทเฮาและจักรพรรดิกวังซวี่ทรงจัดงานเลี้ยงให้จอหงวน* คนใหม่ และคนๆ นั้นก็คือ "เหลียงเหวินซิ่ว" หลังถวายสุราให้ฮ่องเต้และ "หยางสี่เจิน" (พระอาจารย์ของฮ่องเต้) แล้ว เหวินซิ่วจะถวายสุราจอกสุดท้ายให้พระนางซูสีไทเฮา แต่พระนางกลับมอบสุราจอกนั้นให้แก่เหวินซิ่วในฐานะที่เขาเป็นจอหงวนอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ต้าชิง ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีของบ้านเมือง หลังจากนั้น ชุนเอ๋อร์ก็ออกมาแสดงงิ้ว (งิ้วปักกิ่ง) หน้าพระที่นั่ง เมื่อได้เห็นชุนเอ๋อร์ร่ายรำด้วยท่วงท่าที่งดงามและโดดเด่น เหวินซิ่วก็ถึงกับน้ำตาไหลเพราะรู้สึกภาคภูมิใจที่ทั้งชุนเอ๋อร์และตนต่างก็ดิ้นรนจนประสบความสำเร็จ

* จอหงวน คือ คำที่ใช้เรียกผู้ที่เข้าสอบขุนนาง 'รอบสุดท้าย' ได้ที่หนึ่ง 

เกร็ดความรู้


การสอบเข้ารับราชการของจีนเรียกว่า "เคอจวี่" ประกอบด้วยการสอบทั้งหมดสามรอบ รอบที่หนึ่ง เป็นการสอบคัดเลือกระดับท้องถิ่น ผู้ที่สอบผ่านรอบนี้จะได้คุณวุฒิ "ซิ่วไฉ" ดังนั้นการสอบรอบนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า "การสอบซิ่วไฉ" รอบที่สอง เป็นการสอบคัดเลือกระดับภูมิภาค (มณฑล) ผู้มีสิทธิเข้าสอบระดับนี้จะต้องได้คุณวุฒิซิ่วไฉก่อน ผู้สอบผ่านขั้นนี้จะได้คุณวุฒิ "จวี่เหริน"  การสอบรอบนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า "การสอบจวี่เหริน" รอบที่สาม เป็นการสอบรอบสุดท้าย ผู้สอบผ่านรอบนี้จะได้รับการขึ้นบัญชีเพื่อรอการเรียกบรรจุเข้ารับราชการ และได้คุณวุฒิที่เรียกว่า "จิ้นซื่อ" การสอบรอบนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า "การสอบจิ้นซื่อ" ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี สำหรับผู้ที่สอบรอบสุดท้ายได้อันดับหนึ่งจะได้ตำแหน่ง "จ้วงหยวน"  หรือ "จอหงวน" ส่วนอันดับสอง จะได้ตำแหน่ง "ปั๋งเหยี่ยน"  และอันดับสามจะได้ตำแหน่ง "ทั่นฮวา"  - ข้อมูลจาก เฟสบุ๊คประวัติศาสตร์ตามTimeline   / ภาพจาก วิกิพีเดีย       



เหวินซิ่วนึกถึงตอนที่เพิ่งเดินทางมาถึงปักกิ่งพร้อมกับชุนเอ๋อร์และหลิงเอ๋อร์ พลางครุ่นคิดว่า ในตอนนั้นความเจริญของกรุงปักกิ่งทำให้เด็กบ้านนอกอย่างตนถึงกับตกตะลึง ต่อมาถึงได้รู้ว่าชะตาชีวิตคนเรานั้นน่าตกตะลึงยิ่งกว่า... พอนั่งม้าลากเกวียนผ่านพระราชวังต้องห้ามเป็นครั้งแรก เหวินซิ่วถึงกับอ้าปากค้างเพราะตกตะลึงในความยิ่งใหญ่อลังการ นึกถึงช่วงเวลานั้นแล้วเหวินซิ่วก็รู้สึกผิดที่เคยบอกชุนเอ๋อร์ด้วยความโง่เขลาว่าฮ่องเต้คือผู้ยิ่งใหญ่และมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน เขาเองก็คาดไม่ถึงว่าชีวิตของตนกับชุนเอ๋อร์จะเกี่ยวพันกับไทเฮาและฮ่องเต้ ตลอดจนชะตาของบ้านเมือง (จากนี้ไปจะใช้คำว่า "ไทเฮา" แทนพระนางซูสีไทเฮา และใช้คำว่า "ฮ่องเต้" แทนจักรพรรดิกวังซวี่)  

ระหว่างจัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ตำหนักริมน้ำในตอนกลางคืน ไทเฮาถือโอกาสแนะนำพระญาติสาวผู้พี่นามว่า "ซีจื่อ" ให้ฮ่องเต้ได้รู้จัก หลังจากนั้นก็ปลีกตัวไปล่องเรือชมจันทร์ (และทำสปา) พลางหารือเรื่องการคัดเลือกหญิงสาวที่จะมาเป็นว่าที่พระอัครมเหสี (ฮองเฮา) กับ "หลี่เหลียนอิง" (หัวหน้าขันที) ไทเฮาหมายตาซีจื่อซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานแต่อดเสียดายไม่ได้ที่นางไม่ใช่คนสวย เหลียนอิงทูลว่าการเลือกอัครมเหสีควรพิจารณาจากคุณงามความดีมากกว่า เมื่อถึงเวลาคัดเลือกพระสนมจึงค่อยคำนึงถึงความสวย ไทเฮาเห็นด้วยเพราะอัครมเหสีคือมารดาของแผ่นดิน เหลียนอิงกลัวว่าเด็กหนุ่มอย่างฮ่องเต้จะลุ่มหลงมัวเมาในอิสตรีหากมีหญิงงามอยู่เคียงข้าง และถ้าหญิงผู้นั้นสามารถครอบงำจิตใจฮ่องเต้ได้ก็จะยิ่งร้ายเข้าไปใหญ่ ไทเฮาจึงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเลือกซีจื่อเป็นอัครมเหสี โดยวางแผนให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสพบกันอีกครั้งและหวังว่าฮ่องเต้จะเข้าใจพระประสงค์ของพระองค์

ฮ่องเต้รู้สึกแปลกใจที่ซีจื่อเป็นคนนำของว่างมาถวายแทนที่จะเป็นนางกำนัล ซีจื่อเห็นว่าฮ่องเต้ทรงคัดหลักธรรมมาครึ่งค่อนวันแล้วจึงทูลว่าจะช่วยคัด  ฮ่องเต้อ้างว่าพระองค์ทรงคัดหลักธรรมทุกวันที่ 1 มาตั้งแต่ 10 ขวบเพื่อนำไปขอพรให้ไทเฮาและแสดงออกถึงความกตัญญู คนอื่นจึงไม่อาจทำแทนได้ ซีจื่อเลยอาสาช่วยฝนหมึกให้พลางถือโอกาสทูลว่าไทเฮาอยากให้ตนมาเป็นลูก (สะใภ้)  แต่ฮ่องเต้กลับนิ่งเฉยราวกับไม่ได้ยิน เมื่อถูกทักท้วงฮ่องเต้จึงบอกว่าพระองค์ต้องใช้สมาธิในการคัดหลักธรรมและจะท่องจำตามที่เขียนทุกครั้ง จากนั้นก็ถือโอกาสไล่นางไปแบบอ้อมๆ


เมื่อเหวินซิ่วไปถึงสถานที่สอบก็พบว่ามีคนมาเข้าสอบเป็นจำนวนมาก พอเห็นผู้เข้าสอบคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่นำตัวออกไปเพราะมีอาการเสียสติ "ซุ่นกุ้ย" จึงเปรยว่าทุกครั้งที่มีการสอบจะต้องมีคนบ้า หรือไม่ก็เหนื่อยและป่วยจนตาย เหวินซิ่วได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่าที่นี่คงเต็มไปด้วยวิญญาณผู้ผิดหวัง หลังจากนั้นทั้งคู่ต่างก็แนะนำตัว ซุ่นกุ้ยเห็นว่าเหวินซิ่วเพิ่งมาสอบเป็นครั้งแรกจึงช่วยพาไปส่งที่ห้องสอบเพราะเขาเคยมาสอบแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาสอบเหวินซิ่วทำข้อสอบด้วยความตั้งใจแต่พอทำเสร็จเขากลับไม่พอใจในคำตอบของตนจึงขยำทิ้ง หลังจากนั้นไม่ว่าลงมือทำข้อสอบกี่ครั้งเขาก็ยังไม่พอใจ

ครั้นพอตกกลางคืนเหวินซิ่วซึ่งกำลังฟุบหลับได้ยินเสียงคนไออย่างทุกข์ทรมานจึงลุกขึ้นมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น เขาพบว่าบัณฑิตชราคนหนึ่งที่มาเข้าสอบกำลังป่วยหนักใกล้ตายจึงรีบเข้าไปดูพลางร้องเรียกทหาร บัณฑิตชรารู้ตัวว่าตนกำลังจะตายจึงขอร้องให้เหวินซิ่วช่วยนำเรียงความไปส่งแทนตน  โดยบอกว่านี่คือเรียงความที่ดีที่สุดในชีวิตของตน ถ้านำไปส่งแล้วตนต้องสอบผ่านแน่ๆ ขณะที่ทหารนำตัวชายคนดังกล่าวออกไป เหวินซิ่วก็ร้องถามว่าเขาชื่ออะไร ชายชราตอบว่าตนมาจากจิงไห่ชื่อ...เหลียงเหวินซิ่ว!  เหวินซิ่วถึงกับอึ้งเมื่อพบว่าชายชรามีชื่อแซ่เดียวกับตนซ้ำยังมาจากหมู่บ้านเดียวกัน เมื่อได้อ่านเรียงความของชายชรา เหวินซิ่วก็อึ้งยิ่งกว่าเพราะเป็นเรียงความที่เขียนได้ดีมาก ทันใดนั้น เหวินซิ่วก็สะดุ้งตื่น ปรากฏว่าก่อนหน้านี้เป็นเหตุการณ์ในความฝัน ถึงกระนั้นเขาก็ยังจำเนื้อหาในเรียงความของชายชราได้ เขาจึงรีบเขียนเรียงความตามที่ได้อ่านในฝันทันที


 

เมื่อเห็นเหวินซิ่วเดินออกมาอย่างอ่อนแรง ชุนเอ๋อร์และหลิงเอ๋อร์ก็รีบวิ่งเข้าไปประคองแต่ไม่ว่าจะถามอะไรเหวินซิ่วก็ไม่ยอมพูดจา พอ กลับมาที่โรงเตี๊ยมเหวินซิ่วก็นอนหลับทั้งวัน เจ้าของโรงเตี๊ยมบอกชุนเอ๋อร์ให้คอยเตือนเหวินซิ่วว่าอย่าคิดมาก หากสอบไม่ผ่านปีนี้คราวหน้าค่อยมาสอบใหม่ เขากล่าวว่าหลายคนเข้าสอบมาครึ่งค่อนชีวิตแต่ยังสอบไม่ผ่านก็มี หลิงเอ๋อร์ได้ยินดังนั้นจึงแย้งว่าพี่ชายตนต้องสอบผ่านอย่างแน่นอน

อยู่ๆ เหวินซิ่วก็เดินออกมาจากห้องพลางหัวเราะร่าแล้วร้องตะโกนเหมือนคนเสียสติว่า เรียงความที่ตนเขียนสุดยอดมาก จากนั้นก็บอกทุกคนว่าตนสอบผ่านแล้วทั้งๆ ที่ผลการสอบยังไม่ออก  เหวินซิ่วยืนยันกับหลิงเอ๋อร์ว่าตนไม่ได้บ้าแต่มีความสุขเพราะเขียนเรียงความได้ดี เขาเล่าให้หลิงเอ๋อร์ฟังว่ามีชายชราคนหนึ่งมาเข้าฝันแล้วนำเรียงความมาให้ พอตนอ่านดูก็เห็นว่าเป็นเรียงความที่ดีมาก ครั้นพอตื่นขึ้นมาเรียงความดังกล่าวก็อยู่ในหัวตนเรียบร้อยแล้ว


ไทเฮาและฮ่องเต้นั่งชมการแสดงงิ้ว (ซูสีไทเฮาทรงโปรดงิ้วปักกิ่ง) แต่นักแสดงไม่ค่อยมีความชำนาญจึงร่ายรำผิดพลาดหลายครั้ง ไทเฮาไม่พอพระทัยมากจึงเรียกขันทีที่เป็นหัวหน้าคณะมาตำหนิ จากนั้นก็สั่งโบย 100 ไม้และให้ตัดเบี้ยหวัดนักแสดง 3 เดือน เมื่อขันทีคนดังกล่าวร้องขอความเมตตาไทเฮาจึงสั่งให้โบยจนกว่าจะตาย  ฮ่องเต้ได้ยินดังนั้นจึงขอให้ไทเฮาไว้ชีวิตขันทีคนดังกล่าว โดยอ้างว่าพระองค์ทำเพื่อสุขภาพของไทเฮา ไทเฮายอมละเว้นโทษตายและไล่ขันทีคนดังกล่าวออก จากนั้นก็สั่งให้เหลียนอิงไปหาหัวหน้าคณะงิ้วคนใหม่มาทำหน้าที่แทน (ที่ผ่านมาคณะงิ้วที่ไทเฮา (ในละคร) ทรงโปรดปรานมากที่สุดคือคณะของโบตั๋นดำ) เมื่อไทเฮายอมทำตามพระประสงค์ ฮ่องเต้จึงทูลว่า ผู้ที่มีใจเมตตาย่อมเปี่ยมไปด้วยวาสนา


 

ไทเฮาได้ยินดังนั้นจึงก็ร้องหา "หยางสี่เจิน" จากนั้นก็กล่าวชม (ประชด) สี่เจินที่สั่งสอนฮ่องเต้ให้เป็นคนดีมีเมตตา ถึงขนาดกล้าร้องขอชีวิตขันทีผู้ต่ำต้อยต่อหน้าเหล่าขุนนางในราชสำนัก (จริงๆ แล้วทรงตำหนิสี่เจินที่ทำให้ฮ่องเต้กล้าแย้งพระองค์ต่อหน้าเหล่าขุนนาง ซึ่งผิดไปจากเมื่อก่อนที่มักคล้อยตามพระองค์ตลอด) สี่เจินทูลว่าไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม ทุกคนล้วนได้ชื่อว่าเป็นราษฎรของต้าชิง  ผู้ปกครองแผ่นดินจึงควรมีเมตตาต่อราษฎร ไทเฮาได้ยินดังนั้นจึงกล่าวชมว่าพูดได้สมกับที่เป็นพระอาจารย์ เพราะแม้แต่พระองค์ก็ยังถูกสอน (ขณะนั้นไทเฮาคือผู้ปกครองแผ่นดินตัวจริง)  

สี่เจินถือโอกาสทูลขอไทเฮาให้รับปากว่าจะวางมือจากการว่าราชการหลังม่านและถวายคืนพระราชอำนาจให้ฮ่องเต้ โดยยอมเอาชีวิตเข้าแลก (เขาถอดหมวกขุนนางออกและคุกเข่าขณะกราบทูล) เขาให้เหตุผลว่าฮ่องเต้ทรงพระปรีชาจึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล และการทำเช่นนั้นก็เป็นการถนอมพระวรกายของไทเฮาด้วย  จากนั้นก็ออกตัวว่าตนทูลเรื่องนี้ด้วยความจงรักภักดี ไทเฮาได้ยินแล้วถึงกับอึ้ง (เหล่าขุนนางที่ได้รับเชิญให้มาชมงิ้วต่างพากันอึ้งเช่นกัน)  ด้วยความที่อยู่ต่อหน้าเหล่าขุนนางพระองค์จึงไม่อาจปฏิเสธเพราะฮ่องเต้มีพระชนมายุมากพอที่จะบริหารบ้านเมืองได้ตามลำพังแล้ว ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่อาจยอมรับและยังไม่พร้อมที่จะวางมือ  ในขณะที่บรรยากาศกำลังตึงเครียด สุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์ปักกิ่งของไทเฮาก็เห่าเสียงดังลั่น ไทเฮาจึงให้นางกำนัลอุ้มสุนัขมาให้พระองค์ หลังเล่นกับสุนัขครู่หนึ่งพระองค์ก็รู้สึกผ่อนคลายลง

ไทเฮากล่าวว่าพระองค์ทรงเห็นด้วยกับสี่เจิน ที่ผ่านมาพระองค์ทรงตรากตรำทำงานหนักก็เพื่อรอวันที่ฮ่องเต้จะทรงว่าราชการได้เอง พระองค์อยากปลดภาระอันหนักอึ้งออกจากสองบ่ามานานแล้ว จะได้เอาเวลาไปพักผ่อนและใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข พระองค์สั่งให้สี่เจินเก็บหมวกขึ้นมาสวมโดยกล่าวว่าการคืนอำนาจให้ฮ่องเต้เป็นสิ่งที่พระองค์ควรทำ แล้วพระองค์จะเอาผิดสี่เจินได้อย่างไร ฮ่องเต้รู้สึกขัดเขินและไม่อยากถูกมองว่าอกตัญญู จึงกล่าวอย่างถ่อมตัวว่าพระองค์ยังด้อยความสามารถจึงขอให้ไทเฮาทรงตรากตรำอยู่หลังม่านอีกหลายๆ ปี ไทเฮาได้ยินดังนั้นจึงแอบโล่งอก จากนั้นก็หันไปถามความเห็นของ "ฉุนชิงอ๋อง" (พระบิดาฮ่องเต้) 



ฉุนชินอ๋องเห็นด้วยกับสี่เจินแต่ไม่กล้าทูลตามตรง เขาจึงได้แต่ทูลว่าการที่ฮ่องเต้สามารถว่าราชการได้โดยลำพังนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีแต่ควรรอให้ฮ่องเต้อภิเษกเสียก่อน (ฮ่องเต้ถึงวัยอภิเษกแล้ว - ความเห็นนี้ทำให้การขยายเวลาว่าราชการหลังม่านของไทเฮาสั้นลง จากหลายๆ ปีเป็นไม่เกิน 1-2 ปี) ไทเฮาไม่อาจคัดค้านเพราะไม่อยากถูกเหล่าขุนนางมองว่าหวงอำนาจ จึงจำใจกล่าวว่าพระองค์เห็นด้วยกับฉุนชินอ๋องและต้องใช้เวลาเตรียมการเช่นกัน เมื่อถูกไทยเฮาถามความเห็นสี่เจินจึงทูลว่าตนเห็นด้วยกับความคิดของพระองค์ จากนั้นก็ยกย่องไทเฮา (ที่ยอมคืนอำนาจให้ฮ่องเต้) ว่าเปรียบเสมือนจักรพรรดิเฉียนหลง* ที่ทรงสละราชบัลลังก์ให้พระโอรสจนโลกจดจำ ไทเฮาได้ยินดังนั้นจึงตำหนิสี่เจินเสียงแข็งที่ยกพระองค์เทียบจักรพรรดิเฉียนหลง แต่สุดท้ายก็หัวเราะชอบใจ

* "เฉียนหลง" คือ จักรพรรดิองค์ที่ 6 ของราชวงศ์ชิง พระนามเดิมคือ "หงลี่" หลังครองราชย์นาน 60 ปีพระองค์ได้สละราชสมบัติให้พระโอรสองค์ที่ 15  ด้วยไม่ทรงปรารถนาจะครองราชย์ยาวนานเกินกว่าจักรพรรดิคังซีผู้เป็นพระอัยกา (ปู่)  ถึงกระนั้นอำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่กับพระองค์ โดยดำรงตำแหน่งเป็น "ไท่ซ่างหวง" หรือพ่อหลวงของแผ่นดิน ซึ่งเป็นจักรพรรดิสูงสุด 

เมื่ออยู่ในที่ลับตาคน ฮ่องเต้ก็ตำหนิสี่เจิน (แบบอ้อมๆ) ที่บุ่มบ่ามทูลไทเฮาให้วางมือจากการว่าราชการหลังม่าน สี่เจินยอมรับว่าตนเองก็กลัวตายแต่ถ้าไม่ทูลตอนนี้ก็คงหาโอกาสดีๆ แบบนี้ได้ยาก ถึงแม้ตนไม่สามารถทวงคืนอำนาจมาให้ฮ่องเต้ได้ในทันที แต่อย่างน้อยไทเฮาก็ทรงรับปากต่อหน้าเหล่าขุนนาง
ฮ่องเต้บอกสี่เจินว่าต่อจากนี้ห้ามวู่วามอีกเป็นอันขาด ถึงไม่มีอำนาจพระองค์ก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีอาจารย์ช่วยชี้แนะพระองค์คงอยู่อย่างยากลำบาก ดังนั้นพระองค์จะอดทนรอต่อไป สี่เจินทูลว่าพระองค์รอได้แต่ประชาชนรอไม่ได้ ยามนี้บ้านเมืองทั้งล้าหลังและระส่ำระสาย แถมราษฎรยังอดอยากยากแค้น หากไม่เร่งปฎิรูปบ้านเมืองราษฎรคงพากันสิ้นหวัง  ฮ่องเต้ได้ยินดังนั้นจึงรับปากว่าพระองค์จะเป็นฮ่องเต้ที่ดีและจะไม่ทำให้อาจารย์ผิดหวัง


"หรงลู่" (คนสนิทของไทเฮา) ไม่เห็นด้วยที่ไทเฮารีบรับปากว่าจะคืนอำนาจให้ฮ่องเต้ ไทเฮาชี้ว่าตอนนี้ฮ่องเต้เจริญพระชนม์จนปฏิบัติราชกิจด้วยพระองค์เองได้แล้ว หากยังฝืนว่าราชการหลังม่านต่อไปคงไม่สมเหตุสมผล ถึงยังไงก็ต้องคืนอำนาจให้ฮ่องเต้อยู่ดี หรงลู่แย้งว่าไทเฮาไม่น่าปล่อยให้สี่เจินล่วงเกิน ไทเฮากล่าวว่าสี่เจินคือพระอาจารย์ของฮ่องเต้ ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นที่ยกย่องของราชวงศ์ชิงมาช้านาน หรงลู่มองว่าถึงจะเป็นพระอาจารย์แต่สี่เจินก็ไม่ควรกดดันไทเฮาให้รีบตัดสินพระทัยด้วยการทูลขอต่อหน้าเหล่าขุนนาง ไทเฮาจึงกล่าวว่าหากพระองค์ปฏิเสธมีหวังได้ลือกันทั้งแผ่นดินว่าพระองค์หวงอำนาจ เมื่อเห็นว่าหรงลู่มองสี่เจินในทางไม่ดี ไทเฮาจึงชี้ว่าสี่เจินเป็นขุนนางมากว่า 20 ปีหากเขากระหายอำนาจและไม่เห็นแก่ชาติบ้านเมืองจริงคงไม่ได้รับการยกย่องจนถึงทุกวันนี้ และคนแบบนี้ก็ควรมีไว้เป็นเสาหลักให้กับทางราชสำนัก

ถึงกระนั้น หรงลู่ก็ยังพยายามยุแยงให้ไทเฮาเอาผิดสี่เจิน ไทเฮาจึงทุบโต๊ะด้วยความโกรธที่หรงลู่ไม่ยอมเลิกราทั้งๆ ที่พระองค์พยายามคิดบวกและทำใจเย็น จากนั้นก็ตวาดหรงลู่ว่าพระองค์เข้าวังมา 40 ปี ได้ยินคำพูดระคายหูมานับครั้งไม่ถ้วนแต่ก็เก็บงำความรู้สึกเอาไว้ในใจ หากมัวผูกใจเจ็บแบบหรงลู่พระองค์มีหวังอกแตกตายไปนานแล้ว ไทเฮารู้ว่าหรงลู่ไม่อยากให้พระองค์วางมือทางการเมืองเพราะกลัวว่าตนเองจะสูญเสียอำนาจและไม่มีคนคอยปกป้อง ซึ่งหรงลู่ก็ยอมรับแต่โดยดีแต่ยังคงอ้างว่าตนทำเพื่อไทเฮาและต้าชิง เขากล่าวว่าฮ่องเต้เป็นคนหัวอ่อน ทั้งยังด้อยประสบการณ์จึงอาจถูกชักนำได้ง่าย ไทเฮาทนฟังไม่ได้จึงไล่หรงลู่ออกจากห้อง และเตือนว่าอย่าได้นำเรื่องนี้ไปพูดข้างนอกเพราะเขาเพิ่งมีอำนาจรากฐานจึงยังไม่มั่นคง


ไทเฮานึกถึงคำพูดของหรงลู่ที่เตือนให้ระวังฮ่องเต้แข็งข้อ (เพราะถูกสี่เจินชักนำ) แต่พระองค์เชื่อว่าฮ่องเต้ยังคงเชื่อฟังและกตัญญูต่อพระองค์ เพราะหลังจากฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์ขณะยังทรงพระเยาว์* พระองค์ก็ทรงเลี้ยงดูฮ่องเต้ดุจลูกในไส้  (ฮ่องเต้เป็นโอรสบุญธรรมของไทเฮา) ทั้งยังมอบบัลลังก์ให้และทำชุดมังกรเองกับมือ ถึงกระนั้นพระองค์ก็รู้สึกน้อยใจที่ฮ่องเต้ไม่ได้เรียกพระองค์ว่า 'เสด็จแม่' นานแล้ว

จักรพรรดิกวังซวีขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียง 4 พรรษา โดยในช่วงแรกพระพันปีหลวงฉืออัน (อัครมเหสีของจักรพรรดิเสียนเฟิง) และพระพันปีหลวงฉือสี (พระนางซูสีไทเฮา) ร่วมว่าราชการหลังม่านแทนฮ่องเต้พระองค์น้อย แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีพระพันปีหลวงฉืออันก็เสด็จทิวงคตกระทันหัน พระนางซูสีไทเฮาจึงสำเร็จราชการหลังม่านแต่เพียงผู้เดียว) 

วันรุ่งขึ้น ไทเฮาเสด็จไปที่ตำหนักริมน้ำ ระหว่างทางไทเฮาบอกเหลียนอิงว่าเมื่อคืนพระองค์นึกถึงตอนที่ฮ่องเต้ทรงขึ้นครองราชย์ขณะยังทรงพระเยาว์ เผลอแป๊ปเดียวฮ่องเต้โตเป็นหนุ่มและกำลังจะอภิเษก ส่วนพระองค์ก็แก่ลงมาก เหลียนอิงทูลว่าฮ่องเต้เจริญพระชนม์แล้วก็จริงแต่บ่าของไทเฮายังคงแบกภาระอันหนักอึ้ง ไทเฮากล่าวว่าพระองค์ยินดีจะช่วยแบ่งเบาภาระฮ่องเต้ต่อไป เหลียนอิงแย้งว่าฮ่องเต้อาจต้องการบริหารราชกิจตามลำพังโดยไม่ต้องมีใครช่วยชี้นำหรือสั่งการแทน เมื่อเดินไปถึงตำหนักริมน้ำ นางกำนัลคนหนึ่งนำอาหารที่จะถวายฮ่องเต้มาให้ไทเฮาลองชิม เหลียนอิงเห็นไทเฮาใส่ใจดูแลฮ่องเต้และคุมเข้มแม้กระทั่งเรื่องอาหารการกินจึงสงสัยว่าฮ่องเต้จะเห็นแก่ไทเฮาบ้างหรือเปล่า ไทเฮากล่าวว่าพระองค์คงหลีกเลี่ยงการถวายคืนอำนาจไม่ได้ ถึงแม้จะเชื่อพระทัยฮ่องเต้แต่เพื่อเป็นการกันไว้ก่อน ไทเฮาจึงสั่งให้เหลียนอิงไปหาหรงลู่เพื่อบอกให้เขาคิดหาวิธีคืนอำนาจแต่ยังคงกุมอำนาจอยู่


เหลียนกงเห็นเครื่องลายครามแบบตะวันตกที่บ้านของหรงลู่ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ เขาหยิบเครื่องลายครามชิ้นหนึ่งขึ้นมาดูแล้วถามว่าภาพผู้หญิงที่ปรากฏในเครื่องลายครามเป็นใคร  หรงลู่กล่าวว่าเธอคือพระนางวิคตอเรีย (สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร) ทรงมีพระชนมายุ 70 พรรษาแล้วแต่ยังปกครองประเทศได้อย่างเป็นปึกแผ่น (ครองราชย์นาน 64 ปี) เหลียนอิงกล่าวว่าไทเฮาของพวกตนเก่งกว่า เพราะทรงเรืองอำนาจขณะมีพระชนมายุเพียง 50 พรรษา หรงลู่ได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่าถ้าหากไทเฮาทรงยุติบทบาททางการเมืองในตอนนี้ก็น่าเสียดาย เขาขอให้เหลียนอิงช่วยโน้มน้าวไทเฮาเพราะยังมีคนอีกมากที่จำเป็นต้องอาศัยใบบุญของพระองค์ เหลียนอิงชี้ว่าความจริงแล้วไทเฮาไม่ต้องการวางมือ พระประสงค์ของไทเฮาคือ ทำทีเป็นถวายคืนพระราชอำนาจแต่ยังกุมอำนาจทั้งหมดเอาไว้ในมือ และนี่ก็คือการบ้านที่ไทเฮาฝากมาให้หรงลู่ทำ

เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามชมได้ใน "ซูสีไทเฮา หงส์เหนือบัลลังก์ (The Firmament of the Pleiades)" ทางไทยรัฐทีวี

* เนื้อหาโดย luvasianseries


นักแสดงนำ

 

ทานากะ ยูโกะ
รับท ซูสีไทเฮา  (พระพันปีฉือสี่)
(นักแสดง ชาวญี่ปุ่น - นางเอก "โอชิน")



 

อวี๋เส้าฉวิน
รับบท ชุนเอ๋อร์ (หลี่ชุนอวิ๋น)
(นักแสดง / นักร้องโอเปร่า ชาวจีน)


 

 อินเถา
รับบท ฮูหยินจาง / องค์หญิงโซว่อัน (มีศักดิ์เป็นหลาน/ลูกบุญธรรมของพระนางซูสีไทเฮา)
(นักแสดง  ชาวจีน)



 

โจวอี้เหว่ย
รับบท เหลียงเหวินซิ่ว
(นักแสดง  ชาวจีน)



 

จางป๋อ
รับบท สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี่  (อ้ายซินเจว๋หลัวไจ้เถียน)
(นักแสดง / นักร้อง ชาวจีน)


 

จางเหมิง
รับบท เจินเฟย  (สนมเจิน / สนมเค่อชุ่น)
(นักแสดง  ชาวจีน)


 

จ้าวลี่อิง
รับบท หลิงเอ๋อร์ (หลี่หลิงหลิง)
 (นักแสดง / นักร้อง ชาวจีน)




คลิปจาก youtube/thairath




คลิปตัวอย่างจากซีทีวี ฯลฯ

*** หากท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิภาพ / เนื้อหา / คลิป ที่ปรากฏในหน้านี้ และไม่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่ซ้ำ กรุณาแจ้งมายังอีเมล์ luvasianseries@hotmail.com เพื่อที่เราจะได้ทำการลบข้อมูลของท่านออกจากระบบ และต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพื่อป้องกันสแปม ความเห็นของคุณจะปรากฏทันทีที่ได้รับการตรวจสอบจากเรา